วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระราชบัญญัติการทำงาน



Coming Soon

ความปลอดภัยในการทำงานนั่งร้าน


ความปลอดภัยในการทำงานนั่งร้าน

ลักษณะของงานก่อสร้างส่วนใหญ่ จะเป็นการทำงานบนที่สูงและงานใต้ดินที่มีระดับชั้นความลึกต่างๆ ซึ่งงานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้นั่งร้านในการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จ ผู้ใช้แรงงาน ช่างหัวหน้างาน ตลอดจนวิศวกรที่ทำงานด้านการก่อสร้าง จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานที่สูงโดยไม่ใช้นั่งร้านด้วยเหตุนี้เราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานนั่งร้านให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย จากสถิติการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ปี 2549 ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน พบว่า จำนวนผู้ประสบอันตรายตกจากที่สูงมีมากถึง 9,362 ราย จากจำนวนผู้ประสบอันตราย 204,257 ราย
ประเภทของนั่งร้าน

นั่งร้านที่ใช้โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 6 ประเภท

1.นั่งร้านไม้ไผ่
2.นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว
3.นั่งร้านเสาเรียงคู่
4.นั่งร้านแบบใช้ท่อเหล็ก
5.นั่งร้านแบบแขวน
6.นั่งร้านชนิดเคลื่อนที่ได้

ข้อพิจารณาในการเลือกนั่งร้าน
นั่งร้านแต่ละประเภทย่อมมีความเหมาะสมในการใช้งานเฉพาะอย่างตามสภาพการก่อสร้าง ผ้ำเนินการก่อสร้างจะต้องเลือกประเภทให้เหมาะสมกับแต่ละงาน

เพื่อความปลอดภัยในการใช้นั่งร้านควรพิจารณาดังนี้

1.สภาพสถานที่ และความเหมาะสมกับสถานที่
2.น้ำหนักบรรทุกที่ใช้งาน
3.ความประหยัด
4.ความสะดวกในการติดตั้ง และรื้อถอน
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิต (Safety Belt & Lift Line) เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ทำงานบนนั่งร้าน และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการที่จะตกลงมาจากที่สูง ผู้ที่ปฏิบัติงานบนที่สูงจะต้องสวมใส่สายรั้งนิรภัยหรือเข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิตหรือสายชูชีพ สายรั้งนิรภัยควรจะยึดติดกับจุดยึดที่มั่นคงอยู่กับที่ ในระดับที่อยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นที่ที่ทำงาน สายช่วยชีวิตไม่ควรมีความยาวเกิน 2 เมตร และเป็นอิสระจากชุดลูกรอกและเชือกสำหรับหิ้วแขวนรับภาระอื่นๆ สายช่วยชีวิตที่ยึดติดกับเข็มขัดจะต้องมีความยาวไม่เกินกว่า 1.20 เมตร จุดทำการยึดที่เหมาะสมจะถูกนำขึ้นมาพร้อมกับส่วนโครงสร้างของการติดตั้งนั้นอันจะทำให้ใช้งานสายช่วยชีวิตเชือกและชิ้นส่วนรั้งยึดอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย

มาตรฐานนั่งร้าน
ในส่วนของนั่งร้านทั่วไปนั้น จำเป็นต้องมีแบบที่เป็นมาตรฐานซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยที่จะใช้งานเป็นหลักนั่งร้าน จึงควรมีลักษณะมาตรฐาน ดังนี้

1.สำหรับนั่งร้านที่ทำด้วยไม้จะออกแบบเพื่อรับน้ำหนักไว้สูงสุดไม่เกิน 4 เท่า ของน้ำหนักที่จะใช้งานจริง
2.การใช้นั่งร้านนั้นมีข้อควรระวังคือ ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ชนิดเดียวกันและไม่ควรใช้แบบผสมผสานกัน
3.นั่งร้านที่สูงกว่า 2 เมตร จะต้องมีราวกันตก
4.นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้จะต้องใช้ไม้ที่ไม่ผุ เปื่อย และไม่มีรอยร้าวหรือ ชำรุดอื่นๆ ที่จะทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน
5.นั่งร้านที่เป็นโลหะ ต้องมีจุดคราก (Yield Point) ไม่น้อยกว่า 2,400 กก./ ตาราง ซม. และสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักของการใช้งาน
6.โครงนั่งร้านต้องมีการยึดโยง ค้ำยัน หรือตรึงกับพื้นดิน หรือส่วนของงานก่อสร้างเพื่อป้องกันมิให้เซหรือล้ม
7.ราวกันตก ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 90 ซม. และไม่เกิน 1.10 เมตร จากพื้นนั่งร้านตลอดแนวยาวด้านนอกของนั่งร้าน ยกเว้นเฉพาะช่วงที่จำเป็นเพื่อขนถ่ายสิ่งของ และนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว
8.ต้องจัดให้มีบันไดภายในของนั่งร้านและมีความลาดเอียงไม่เกิน 45 องศา ยกเว้นนั่งร้านเสาเดี่ยว
9.ต้องออกแบบเผื่อไว้ให้นั่งร้านสามารถรับน้ำหนักผ้าใบสังกะสี ไม้แผ่น หรือวัสดุอื่นที่คล้ายกัน นอกจากนี้จะต้องมีการบำรุงดูแลรักษาสภาพการใช้งานของนั่งร้านอย่างสม่ำเสมอ หากมีพายุ แผ่นดินไหว หรือเหตุที่ทำให้นั่งร้านเสียสมดุลต้องทำการซ่อมหรือปรับปรุงแล้วให้มีสภาพที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งานและที่สำคัญ คือพนักงานทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วยทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน


อันตรายที่มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในการใช้นั่งร้าน

การพังของนั่งร้าน สาเหตุเกิดจาก

1.รับน้ำหนักการบรรทุกมากเกินไปเพราะคนงานขึ้นไปมากเกินหรือกองวัสดุไว้มากเกินความจำเป็น
2.วัสดุที่นำมาใช้ทำนั่งร้านไม่คงทนแข็งแรง ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม้เก่า เนื้อยุ่ย มีตาไม้ หรือเหล็กคดงอ และเป็นสนิม
3.การประกอบติดตั้งไม่ถูกต้อง
4.ฐานรองรับนั่งร้านไม่แข็งแรง

คนงานตกลงมาจากนั่งร้าน สาเหตุเกิดจาก

1.คนงานประมาทเลินเล่อ เดินสะดุดวัสดุบนนั่งร้านแล้วพลัดตกลงมา
2.อาจจะเป็นโรคปัจจุบันทันด่วน เช่น เป็นลม หน้ามืด
3.เกิดจากการพัดของลมอย่างแรง เช่น ขณะทำงาน มีพายุฝนตก ลมพัดแรง พัดคนงานตกลงมา
แนวทางการป้องกันการเกิดอันตรายจากการทำงานนั่งร้าน

1.กำหนดน้ำหนักบรรทุกของนั่งร้านแต่ละชนิด จำกัดจำนวนคนงาน กำหนดขอบเขตจำนวนการกองวัสดุบนนั่งร้าน
2.ตรวจสอบวัสดุที่นำมาประกอบถ้าเป็นไม้ต้องเป็นไม้ที่ไม่ผุเปื่อยหรือไม่มีรอยแตกร้าวรวมถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางความหนาต้องได้มาตรฐาน ถ้าเป็นเหล็กจะต้องไม่คดงอ และเป็นสนิม
3.การประกอบติดตั้ง ต้องเป็นไปตามที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ หรือเป็นไปตามที่วิศวกรคำนวณออกแบบ
4.ปรับปรุงคุณภาพฐานรองรับนั่งร้านให้มั่นคงแข็งแรง
5.อบรมให้ความรู้กับคนงานที่ปฏิบัติงานบนนั่งร้าน
6.ตรวจสุขภาพคนงานว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่
7.ติดตั้งราวกันตก และให้คนงานสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
8.ในขณะมีพายุฝนตกหนักห้ามมิให้คนงานทำงานบนนั่งร้าน