วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระราชบัญญัติการทำงาน



Coming Soon

ความปลอดภัยในการทำงานนั่งร้าน


ความปลอดภัยในการทำงานนั่งร้าน

ลักษณะของงานก่อสร้างส่วนใหญ่ จะเป็นการทำงานบนที่สูงและงานใต้ดินที่มีระดับชั้นความลึกต่างๆ ซึ่งงานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้นั่งร้านในการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จ ผู้ใช้แรงงาน ช่างหัวหน้างาน ตลอดจนวิศวกรที่ทำงานด้านการก่อสร้าง จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานที่สูงโดยไม่ใช้นั่งร้านด้วยเหตุนี้เราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานนั่งร้านให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย จากสถิติการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ปี 2549 ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน พบว่า จำนวนผู้ประสบอันตรายตกจากที่สูงมีมากถึง 9,362 ราย จากจำนวนผู้ประสบอันตราย 204,257 ราย
ประเภทของนั่งร้าน

นั่งร้านที่ใช้โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 6 ประเภท

1.นั่งร้านไม้ไผ่
2.นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว
3.นั่งร้านเสาเรียงคู่
4.นั่งร้านแบบใช้ท่อเหล็ก
5.นั่งร้านแบบแขวน
6.นั่งร้านชนิดเคลื่อนที่ได้

ข้อพิจารณาในการเลือกนั่งร้าน
นั่งร้านแต่ละประเภทย่อมมีความเหมาะสมในการใช้งานเฉพาะอย่างตามสภาพการก่อสร้าง ผ้ำเนินการก่อสร้างจะต้องเลือกประเภทให้เหมาะสมกับแต่ละงาน

เพื่อความปลอดภัยในการใช้นั่งร้านควรพิจารณาดังนี้

1.สภาพสถานที่ และความเหมาะสมกับสถานที่
2.น้ำหนักบรรทุกที่ใช้งาน
3.ความประหยัด
4.ความสะดวกในการติดตั้ง และรื้อถอน
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิต (Safety Belt & Lift Line) เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ทำงานบนนั่งร้าน และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการที่จะตกลงมาจากที่สูง ผู้ที่ปฏิบัติงานบนที่สูงจะต้องสวมใส่สายรั้งนิรภัยหรือเข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิตหรือสายชูชีพ สายรั้งนิรภัยควรจะยึดติดกับจุดยึดที่มั่นคงอยู่กับที่ ในระดับที่อยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นที่ที่ทำงาน สายช่วยชีวิตไม่ควรมีความยาวเกิน 2 เมตร และเป็นอิสระจากชุดลูกรอกและเชือกสำหรับหิ้วแขวนรับภาระอื่นๆ สายช่วยชีวิตที่ยึดติดกับเข็มขัดจะต้องมีความยาวไม่เกินกว่า 1.20 เมตร จุดทำการยึดที่เหมาะสมจะถูกนำขึ้นมาพร้อมกับส่วนโครงสร้างของการติดตั้งนั้นอันจะทำให้ใช้งานสายช่วยชีวิตเชือกและชิ้นส่วนรั้งยึดอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย

มาตรฐานนั่งร้าน
ในส่วนของนั่งร้านทั่วไปนั้น จำเป็นต้องมีแบบที่เป็นมาตรฐานซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยที่จะใช้งานเป็นหลักนั่งร้าน จึงควรมีลักษณะมาตรฐาน ดังนี้

1.สำหรับนั่งร้านที่ทำด้วยไม้จะออกแบบเพื่อรับน้ำหนักไว้สูงสุดไม่เกิน 4 เท่า ของน้ำหนักที่จะใช้งานจริง
2.การใช้นั่งร้านนั้นมีข้อควรระวังคือ ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ชนิดเดียวกันและไม่ควรใช้แบบผสมผสานกัน
3.นั่งร้านที่สูงกว่า 2 เมตร จะต้องมีราวกันตก
4.นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้จะต้องใช้ไม้ที่ไม่ผุ เปื่อย และไม่มีรอยร้าวหรือ ชำรุดอื่นๆ ที่จะทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน
5.นั่งร้านที่เป็นโลหะ ต้องมีจุดคราก (Yield Point) ไม่น้อยกว่า 2,400 กก./ ตาราง ซม. และสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักของการใช้งาน
6.โครงนั่งร้านต้องมีการยึดโยง ค้ำยัน หรือตรึงกับพื้นดิน หรือส่วนของงานก่อสร้างเพื่อป้องกันมิให้เซหรือล้ม
7.ราวกันตก ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 90 ซม. และไม่เกิน 1.10 เมตร จากพื้นนั่งร้านตลอดแนวยาวด้านนอกของนั่งร้าน ยกเว้นเฉพาะช่วงที่จำเป็นเพื่อขนถ่ายสิ่งของ และนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว
8.ต้องจัดให้มีบันไดภายในของนั่งร้านและมีความลาดเอียงไม่เกิน 45 องศา ยกเว้นนั่งร้านเสาเดี่ยว
9.ต้องออกแบบเผื่อไว้ให้นั่งร้านสามารถรับน้ำหนักผ้าใบสังกะสี ไม้แผ่น หรือวัสดุอื่นที่คล้ายกัน นอกจากนี้จะต้องมีการบำรุงดูแลรักษาสภาพการใช้งานของนั่งร้านอย่างสม่ำเสมอ หากมีพายุ แผ่นดินไหว หรือเหตุที่ทำให้นั่งร้านเสียสมดุลต้องทำการซ่อมหรือปรับปรุงแล้วให้มีสภาพที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งานและที่สำคัญ คือพนักงานทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วยทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน


อันตรายที่มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในการใช้นั่งร้าน

การพังของนั่งร้าน สาเหตุเกิดจาก

1.รับน้ำหนักการบรรทุกมากเกินไปเพราะคนงานขึ้นไปมากเกินหรือกองวัสดุไว้มากเกินความจำเป็น
2.วัสดุที่นำมาใช้ทำนั่งร้านไม่คงทนแข็งแรง ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม้เก่า เนื้อยุ่ย มีตาไม้ หรือเหล็กคดงอ และเป็นสนิม
3.การประกอบติดตั้งไม่ถูกต้อง
4.ฐานรองรับนั่งร้านไม่แข็งแรง

คนงานตกลงมาจากนั่งร้าน สาเหตุเกิดจาก

1.คนงานประมาทเลินเล่อ เดินสะดุดวัสดุบนนั่งร้านแล้วพลัดตกลงมา
2.อาจจะเป็นโรคปัจจุบันทันด่วน เช่น เป็นลม หน้ามืด
3.เกิดจากการพัดของลมอย่างแรง เช่น ขณะทำงาน มีพายุฝนตก ลมพัดแรง พัดคนงานตกลงมา
แนวทางการป้องกันการเกิดอันตรายจากการทำงานนั่งร้าน

1.กำหนดน้ำหนักบรรทุกของนั่งร้านแต่ละชนิด จำกัดจำนวนคนงาน กำหนดขอบเขตจำนวนการกองวัสดุบนนั่งร้าน
2.ตรวจสอบวัสดุที่นำมาประกอบถ้าเป็นไม้ต้องเป็นไม้ที่ไม่ผุเปื่อยหรือไม่มีรอยแตกร้าวรวมถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางความหนาต้องได้มาตรฐาน ถ้าเป็นเหล็กจะต้องไม่คดงอ และเป็นสนิม
3.การประกอบติดตั้ง ต้องเป็นไปตามที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ หรือเป็นไปตามที่วิศวกรคำนวณออกแบบ
4.ปรับปรุงคุณภาพฐานรองรับนั่งร้านให้มั่นคงแข็งแรง
5.อบรมให้ความรู้กับคนงานที่ปฏิบัติงานบนนั่งร้าน
6.ตรวจสุขภาพคนงานว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่
7.ติดตั้งราวกันตก และให้คนงานสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
8.ในขณะมีพายุฝนตกหนักห้ามมิให้คนงานทำงานบนนั่งร้าน

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

การป้องกันอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ


การป้องกันอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ

อัคคีภัยเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้วย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ดั่งคำพูด “โจรปล้นสิบครั้งไม่เท่าไฟไหม้เพียงครั้งเดียว” ทั้งยังส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางน้ำอีกด้วย การเกิดอัคคีภัยนั้นหากเกิดกับสถานประกอบกิจการใดก็ตามส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

อัคคีภัยเกิดขึ้นได้อย่างไร
การเกิดอัคคีภัยขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบหลักครบ 3 ประการด้วยกันคือ เชื้อเพลิง อากาศ และความร้อน เกิดปฏิกิริยาลูกทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น เปลวไฟจะลุกต่อเนื่องกันไปจนกว่าเชื้อเพลิงจะหมด ไฟก็จะดับไปเอง
-เชื้อเพลิง อาจจะอยู่ในสถานะเป็น ของแข็ง ของเหลว หรือ ก๊าซ เช่น ไม้ แมกนีเซียม แอมโมเนีย สารตัวทำ
ละลาย ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น
-อากาศ ซึ่งอาจจะอยู่ในสถานะเป็น ของแข็ง ของเหลว หรือ ก๊าซ เช่น ไม้ แมกนีเซียม แอมโมเนีย สารตัวทำ
ละลาย ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น
-ความร้อน บริเวณนั้นมีอุณหภูมิที่เหมาะสมพอที่จะทำให้เชื้อเพลิงนั้นเกิดเปลวไฟขึ้นได้

สาเหตุของการเกิดอัคคีภัย

การเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการต่างๆมักมีสาเหตุเนื่องมาจากความประมาทขาดความระมัดระวัง ในขณะปฏิบัติงาน จากการวิเคราะห์อุบัติเหตุเพลิงไหม้ในสถานประกอบกิจการต่างๆ พบว่าการเกิดอัคคีภัยมีสาเหต ุและแหล่งกำเนิดแตกต่างกันไปพอสรุปได้ดังนี้


+ อุปกรณ์ไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผิดประเภท ขั้วต่อหลวมการลัดวงจรไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนสูงหรือประกายไฟขึ้นได้
+ การสูบบุหรี่หรือการจุดไฟ ในบริเวณที่มีเชื้อเพลิงไวไฟ การทิ้งก้นบุหรี่/ไม้ขีดไฟที่ติดไฟแล้วลงถังขยะ
+ การเสียดทาน การเสียดสีของส่วนประกอบของเครื่องจักร เครื่องยนต์ จนทำให้เกิดความร้อนสูงหากมีเชื้อเพลิงไวไฟอยู่ใกล้ความร้อนดังกล่าวทำให้เชื้อเพลิงนั้นเกิดการลุกไหม้ได้
+ วัตถุที่มีผิวร้อนจัด เหล็กที่ถูกเผา ท่อไอน้ำ เมื่อเชื้อเพลิงที่มีผิวร้อนจัดอาจเกิดการลุกไหม้
สะเก็ดไฟ ประกายไฟ หรือเปลวไฟ จากการเชื่อมและตัดโลหะ ประกายไฟภายในเครื่องจักรที่ขัดข้องเตาเผาที่ไม่มีสิ่งปกคลุม ประกายไฟ/เปลวไฟเหล่านี้สัมผัสเชื้อเพลิงที่อยู่ใกล้เคียงทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
+ ไฟฟ้าสถิต เกิดจากการถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตระหว่างวัตถุทำให้เกิดประกายไฟขึ้น
+ ปฏิกิริยาของสารเคมีบางชนิด เกิดจากกระบวนการทางเคมีของสารเคมีซึ่งไม่สามารถควบคุมได้เมื่อสัมผัสกับน้ำ อากาศ หรือวัตถุอื่น ๆทำให้เกิดการลุกไหม้ได้
+ สภาพบรรยากาศที่มีสิ่งปนเปื้อน ก่อให้เกิดการระบาดได้ เช่น ฝุ่นผง ไอระเหย ก๊าซของสารซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ในช่วงเหมาะสม เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิถึงจุดระเบิดก็จะระเบิดลุกไหม้ขึ้นได้

การป้องกันการเกิดอัคคีภัย

หลักในการป้องกันการเกิดอัคคีภัยที่สำคัญประการแรก คือ การแยกเชื้อเพลิง ออกซิเจน หรือความร้อน อย่างใดอย่างหนึ่งออกไป ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องดำเนินการ ณ จุดที่อาจจะเป็นสาเหตุของอัคคีภัยได้

- ระบบไฟฟ้า การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดจะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมกับพื้นที่ที่ใช้งานเมื่อเป็นที่ที่มีไอระเหยของสารไวไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องเป็นชนิดกันการระเบิดได้ (Explosion proof) บริเวณที่มีไอระเหยของสารที่มีคุณสมบัติกัดกร่อน อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องเป็นชนิดทนการกัดกร่อนได้ และหลังเลิกการใช้เครื่องไฟฟ้าควรปิดสวิตซ์และดึงปลั๊กไฟออกทุกครั้ง

- การบำรุงรักษาเครื่องจักร หมั่นตรวจตราและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ เครื่องจักรต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อมิให้เกิดอัคคีภัยจากการชำรุดหรือความบกพร่องของอุปกรณ์นั้น

- การสำรวจและตรวจสอบ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งในอาคารและนอกอาคาร การแยกจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกวิธีตามเอกสารข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ (Material Safety Date Sheet) เครื่องจักรมีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ระบบไฟฟ้า ทางหนีไฟ ฯลฯ

- การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานทุกๆ คน จะต้องทราบและเข้าใจเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ หรือวิธีปฏิบัติที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ไม่เป็นต้นเหตุของการเกิดอัคคีภัยและฝึกซ้อมเมื่อเกิดอุบัติภัยขึ้น การฝึกอบรม และฝึกซ้อมหนีไฟ สถานประกอบกิจการต้องจัดฝึกซ้อม ปีละ 1 ครั้ง โดยลูกจ้าง 40% ต้องเข้ารับการฝึกอบรม และฝึกซ้อมหนีไฟ

- การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาและการส่งเสริมพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (หมวดที่ 8 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาแวดล้อมในการทำงาน) ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

อันตรายในงานขัดผิวโลหะ

อันตรายในงานขัดผิวโลหะ

งานขัดผิวโลหะ เป็นส่วนหนึ่งของงานในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโลหะเกือบทุกชนิด กรรมวิธีการขัดผิวโลหะมีหลายประเภท เช่น ขัดด้วยหินเจียร สายพานขัด ใช้วัสดุขัดในถังหมุน หรือพ่นทราย เป็นต้น การเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับขนาดและความเหมาะสมของชิ้นงาน

อันตรายที่อาจเกิดขึ้น แบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1. อุบัติเหตุ เกิดขึ้นได้เนื่องจาก
- เศษหินเจียร หรือวัสดุที่เกิดขึ้นจากงานขัด เช่น เศษโลหะต่างๆ หรือผงทรายที่ใช้ในการขัดกระเด็นเข้าตา ซึ่งทำให้ตาบาดเจ็บหรือบอดได้
- สายพานขัดขาด เกิดขึ้นได้เมื่อสายพานเก่า ชำรุด ซึ่งมีแรงเหวี่ยงมากพอที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บได้

2.โรคจากการทำงาน ได้แก่
- โรคปอด เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นทราย หรือฝุ่นโลหะที่เกิดขึ้นจากงานขัดเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้มีการสะสมของสารต่างๆ ในปอดโดยเฉพาะบุคคลที่หายใจช้าและลึกจะทำให้ฝุ่นตกค้างในปอดมากขึ้น การที่มีสารแปลกปลอมเข้าไปในปอด จะทำให้เนื้อเยื่อปอดเกิดการระคายเคืองอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดขึ้นภายในปอด สมรรถภาพในการทำงานของปอดจะลดลง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อยง่าย หอบ น้ำหนักตัวลด เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอ หายใจถี่ เป็นต้น โรคปอดดังกล่าวมีชื่อเรียกรวมๆ กันว่า นิวโมโคนิโอซิส แต่ถ้าอาการโรคเกิดจากฝุ่นทราย เรียกว่า ซิลิโคซิส ถ้าอาการโรคเกิดจากฝุ่นเหล็ก เรียกว่า ซิเดอโรซิส
เป็นต้น
- โรคผิวหนัง เกิดขึ้นได้จากการที่ผิวหนังต้องสัมผัสกับฝุ่นสารต่างๆ และมีน้ำมันขณะปฏิบัติงานปกติผิวหนังจะมี ไขมัน และเหงื่อ เป็นด่านป้องกันมิให้สารแปลกปลอมแพร่กระจายหรือแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นในได้โดยง่าย ฝุ่นสารหรือน้ำมันจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง ผิวหนังแห้งแตก เกิดการอักเสบเป็นตุ่มแดง และถ้าหากเกิดบาดแผลที่ผิวหนังจะทำให้มีอาการของโรคผิวหนังติดเชื้อลุกลามได้มากขึ้น
- หูตึง งานขัดส่วนใหญ่ก่อให้เกิดเสียงดังเกิน 85 db(A) ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานความดังของเสียงที่วสามารถทำอันตรายต่อหูได้ ถ้าคนงานได้รับติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะเสียงที่มีความถี่สูง (เสียงแหลม) จะทำอันตรายแก่หูได้มากขึ้น การที่คนงานต้องรับฟังเสียงที่ดังเกินขนาดเป็นประจำในระยะเวลานานๆ จะทำให้สมรรถภาพการได้ยินลดลง และเกิดภาวะหูตึงได้
-โรคนิ้วตายจกการสั่นสะเทือน งานขัดบางประเภททำให้เกิดความสั่นสะเทือนอย่างมากต่อมือและแขนเป็นผลให้เส้นโลหิตฝอยที่ปลายนิ้วมือ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้นิ้วมือซีดขาว ชา หมดความรู้สึก

ท่านจะป้องกันได้อย่างไร
1. ตรวจสภาพเครื่องมือและอุปกรณ์การขัดให้เรียบร้อย ก่อนการใช้งาน เช่น ถังหมุนไม่มีรอยรั่ว หินเจียรและสายพานขัดมีขนาดถูกต้อง และไม่ชำรุด สายพานของเครื่องจักรต้องมีฝาครอบ
2. กำจัดปริมาณฝุ่นที่เกิดขึ้นในโรงงาน โดยจัดระบบระบายอากาศในโรงงานให้ถูกทิศทาง และเครื่องดูดอากาศเฉพาะที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน เช่น ใส่แว่นตานิรภัยกันเศษวัสดุกระเด็นเข้าตา สวมถุงมือกันสารเคมี และสวมหน้ากากกันสารเคมี ถ้าสถานที่ทำงานมีปริมาณฝุ่นสารเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย กรณีทำงานกับเครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือน ให้ใส่ถุงมือที่สามารถลดความสั่นสะเทือนได้ และให้ใส่ปลั๊กอุดหูลดเสียงหรือที่ครอบหูลดเสียงในขณะที่ทำงานในที่มีเสียงดัง
4. หมั่นทำความสะอาดที่บริเวณงานและจัดระเบียบภายในโรงงานให้เรียบร้อย
5. หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เช่น เอกซเรย์ปอด ทดสอบสมรรถภาพปอด และทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

การใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัย



การใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัย
เครื่องมือ หมายถึง อุปกรณ์ประกอบการทำงานที่ใช้มือถือ เช่น เลื่อย ค้อน หรือไขควง เป็นต้น การใช้เครื่องมือไม่เป็น ไม่ถูกวิธี หรือไม่เหมาะสมกับงานก็อาจเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหต
ุขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อจะลดอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือในการปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเข้าใจหลักการ
พื้นฐานของการใช้เครื่องมือในการปฏิบัติงานให้ถูกต้อง

หลักพื้นฐานของการใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัย
- เลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับงาน
- ใช้เครื่องมือให้ถูกวิธี
- รักษาเครื่องมือให้อยู่ในสภาพดีเสมอ
- ในการรับส่งเครื่องมือจะต้องกระทำให้เกิดความปลอดภัย
- เก็บรักษาเครื่องมือให้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย
- ในระหว่างการทำงานควรจะวางเครื่องมือให้เป็นระเบียบเพื่อความปลอดภัย
- ในการขนย้ายเครื่องมือจะต้องให้เกิดความปลอดภัย



เทคนิคการใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัย
เทคนิคการใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัย ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้นการใช้เครื่องมือประเภทต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย สามารถพิจารณาได้ดังนี้

ตะไบ
วิธีการใช้ตะไบอย่างปลอดภัย
1. อย่าใช้ตะไบที่ไม่มีด้าม
2. ควรใช้แปรงลวดในการทำความสะอาดร่องฟันตะไบ
3. ตะไบเป็นเหล็กที่เปราะ อย่าใช้งัดสิ่งของ
4. อย่าใช้ค้อนตอกบนตะไบ เพราะตะไบอาจจะแตกกระจายเป็นอันตรายต่อร่างกาย
5. ควรใช้ผ้าทำความสะอาดชิ้นงานที่ทำการตะไบเสร็จแล้วไม่ควรใช้มือเปล่า

ค้อน
วิธีการใช้ค้อนอย่างปลอดภัย
1. ในขณะที่ใช้ค้อนให้ระวังข้อมือกระแทกกับชิ้นงาน
2. ค้อนที่จะนำมาใช้งานต้องตรวจสอบให้ดีว่าหัวค้อนและด้ามค้อนยึดติดกันแน่น
3. อย่าใช้ค้อนสองอันตีกระทบกัน เพราะเมือกระทบกันแรงๆ อาจจะแตกเป็นสะเก็ดกระเด็นออกมาได้
4. ถ้าค้อนกระทบกับชิ้นงานแล้วแฉลบ อาจเป็นอันตรายได้
5. ในการวางค้อนบนเก้าอี้หรือโต๊ะทำงานต้องระมัดระวังเพราะถ้าหล่นลงมาอาจทำให้ได้รับ
อันตรายได้

เลื่อยมือ
วิธีการใช้ใบเลื่อยมืออย่างปลอดภัย
1. ในการยึดใบเลื่อยเข้ากับโครงเลื่อย จะต้องให้ตึงพอดี
2. อย่าทดสอบความคมของใบเลื่อยโดยการลากนิ้วมือลงไปบนฟันเลื่อย
3. เก็บเลื่อยในลักษณะที่เอื้อมมือไปหยิบ แล้วมือไม่โดนฟันเลื่อย
4. อย่าใช้มือลูบไปบนรอยเลื่อยบนชิ้นงาน เพราะว่ารอยเลื่อยบนชิ้นงานมีความคมมาก
5. ใบเลื่อยมีความแข็งแต่เปราะ

ดังนั้นถ้าใบเลื่อยหักขณะที่กำลังปฏิบัติงานอาจจะกระเด็นออกจากโครงเลื่อย จึงต้องระมัดระวังด้วยการการสวมแว่นนิรภัย

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อาชีวอนามัย

อาชีวอนามัย
การจัดการอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์


1.เพื่อให้มีจิตสำนึกที่ดีในการจัดการอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
2.เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพและอนามัยที่ดีในการทำงาน
3.เพื่อลดอุบัติเหตุในการทำงาน
4.เพื่อให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น

คำและความหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวอนามัย

1. จิตสำนึก (Awareness) คำว่า จิตสำนึก มาจากคำว่า จิต+สำนึก ซึ่ง จิต แปลว่า ใจ และสำนึก แปลว่า ความรู้สึก หรือ รู้สึกตัว ดังนั้น คำว่า จิตสำนึก จึงแปลว่า " มีความรู้หรือความตระหนักอยู่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน "

2. อาชีวอนามัย (Occupational Health) คำว่า อาชีวอนามัย มาจากคำว่า อาชีวะ+ อนามัย ซึ่ง อาชีวะ แปลว่า ผู้ประกอบอาชีพ ดังนั้น อาชีวะอนามัย จึงแปลว่า " สุขภาพอนามัยความปลอดภัยที่สุขสมบูรณ์ของผู้ประกอบอาชีพ"

3. ความปลอดภัย (Safety) แปลว่า สภาวะที่ปราศจากอันตราย การบาดเจ็บ ความเสี่ยง และความสูญเสีย


การปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

สำหรับเจ้าของสถานประกอบการนั้น จะต้องพิจารณาว่า สถานประกอบการของตนเองมีขนาดเล็กใหญ่เพียงใด เช่น ถ้ามีพนักงานเกินกว่า 50 คน และสภาพการทำงานมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายสูงจำเป็นต้องมีห้องพยาบาลไว้ในสถานประกอบการ ก็ควรดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก เจ้าของกิจการก็ต้องพิจารณาว่า จะสามารถดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของพนักงานได้อย่างไรบ้างอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนด

พนักงานทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญของอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานอยู่เสมอ เพราะสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยในการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกคนมีโอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องระมัดระวังอยู่เสมอ

ประเภทของสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน


1.สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
แสง เสียง อากาศ ความสั่นสะเทือน รังสี เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับงานด้านอาชีวอนามัยทั้งสิ้น เช่น ความดังของเสียง ถ้ามีการทำงานน้อยกว่า 7 ชั่วโมง จะต้องมีความดังของเสียง 91 เดซิเบล (เอ) แต่ถ้าทำงาน 7-8 ชั่วโมง จะต้องมีความดังเสียง 90 เดซิเบล (เอ) และถ้าเกินกว่า 8 ชั่วโมงขึ้นไปก็จะลดลงไปตามลำดับ

2. สิ่งแวดล้อมทางเคมี
สารเคมีต่างๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ผลผลิตหรือของเสียที่ต้องการกำจัด โดยทั่วไปสารเคมีดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของฝุ่น ละออง ไอสาร ควัน ก๊าซ หรืออาจอยู่ในรูปของเหลว เช่น ตัวทำละลาย กรด ด่าง เป็นต้น

3. สิ่งแวดล้อมทางชีวะภาพ
สิ่งแวดล้อมทางชีวะภาพ หมายถึง สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น ส่วนสิ่งแวดล้อมทางชีวะภาพที่ไม่มีชีวิตได้แก่ ฝุ่นไม้ ฝุ่นจากฝ้าย

4.สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาสังคม
สิ่งแวดล้อมข้อนี้หมายถึง เศรษฐกิจในการทำงาน รวมไปถึงการเร่งรีบในการทำงานเพื่อแข่งขันกับเวลา และค่าจ้างแรงงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดความเครียดในการทำงาน ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาสังคมทั้งสิ้น


การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ


การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอาจจะเป็นการเดินตรวจความปลอดภัยของโรงงานหรือสถานที่ประกอบการ หรือเป็นการหาวิธีป้องกันการเกิดอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุก่อนที่เหตุการณ์ไม่ดีจะเกิดขึ้น


สถานที่ที่มักเกิดอุบัติเหตุ


1.สถานที่ทำงานใหม่ เช่น การปรับปรุงตึกหรือขยายอาคาร ตลอดจนผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานใหม่ซึ่งยังไม่รู้จักสถานที่ทำงาน หรืออาจมาจากความอยากรู้อยากลองของพนักงานที่อยู่ในช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่น และเพศของผู้ปฏิบัติงาน ชาย หญิง ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุในการทำงานได้เช่นกัน

2.บริเวณสำนักงานที่ไม่ใช่โรงงงาน อุบัติเหตุในสถานที่แบบนี้อาจเกิดขึ้นจาก


- การสะดุดล้ม การพลัดตกจากเก้าอี้ การพลัดตกจากที่สูง
- การปวดหลัง ปวดเอว เนื่องจากการยกของที่ไม่ถูกวิธี
- การเดินชนกันเองตามมุมทางเดินที่เป็นมุมอับ
- ห้องที่มีกระจกในที่ทำงาน ถ้ามีกระจกใสบริเวณที่ทำงาน ควรหาแผ่นป้ายหรือกระดาษที่ดูดีสวยงามไปติดไว้ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ให้คนเห็นว่า ตรงนั้น คือกระจกไม่สามารถเดินผ่านได้
- การถือของเดินขึ้น-ลงบันใด
- การถูกไฟดูดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในสำนักงาน เช่น ตู้ทำน้ำเย็น

การสูญเสียเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุ

1.การสูญเสียทางตรง (Direct Cost) หมายถึง การสูญเสียเงินที่ต้องจ่ายไปอันเนื่องจากอุบัติเหตุนั้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำขวัญ ค่าทำศพ เป็นต้น

2.ความสูญเสียทางอ้อม (Indirect Cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทางตรง ได้แก่ การเสียเวลาการทำงานของพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมปรับปรุงเครื่องจักร ตลอดจนชื่อเสียงและภาพพจน์ของสถานประกอบการ

สาเหตุของการสูญเสีย

1.สาเหตุนำ
เกิดจากความผิดพลาดของการจัดการ เนื่องจากไม่มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ถูกตัดงบประมาณการด้านความปลอดภัย ไม่มีการบังคับให้มีการปฏิบัติงานตามกฎความปลอดภัย ไม่มีการแก้ไขจุดอันตรายต่างๆ ความบกพร่องทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว พนักงานขาดความระมัดระวัง ขาดความตั้งใจในการทำงาน จิตใจอ่อนไหวง่าย ตกใจง่าย หูหนวก สายตาไม่ดี ร่างกายไม่เหมาะสมที่จะทำงานหรือ มีโรคประจำตัว เป็นต้น

2.สาเหตุโดยตรง
สาเหตุโดยตรงมีผลมาจากสาเหตุนำ เช่น เกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย เช่น ความไม่รู้ของพนักงาน ไม่มีความระมัดระวัง เร่งรีบ เผลอเรอ การทำงานลัดขั้นตอน การคาดการณ์ผิด สิ่งเหล่านี้คือความผิดพลาดของพนักงาน วิธีการทำงานไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากตัวของพนักงานเอง เกิดจากสถานที่ทำงานไม่ปลอดภัย เช่น อุปกรณ์เครื่องจักรไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร บริเวณที่ทำงานลื่น คับแคบ เป็นต้น


การดำเนินงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม


การดำเนินงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย และจัดเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต้องใช้หลักการ และเหตุผลในการดำเนินการ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้

1.การตระหนักถึงอันตราย (Recognition)
อันตรายจะเกิดขึ้นได้กับการทำงานทุกชนิด ทุกขั้นตอนในการทำงานจะมีสิ่งคุกคามเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของพนักงานเสมอ เพราะพนักงานต้องปฏิบัติงานอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวในการทำงานตลอดเวลา เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมดีก็จะมีแนวโน้มว่าจะเกิดความปลอดภัยในการทำงาน โดยปราศจากโรคและอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน

2.การประเมินระดับของอันตราย (Evaluation)
ควรมีการตรวจสอบระดับของอันตรายว่ามีระดับมากหรือน้อยเพียงใด และนำเอาค่าที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับมาตรฐาน เพื่อนำผลที่ได้จากการประเมินไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

3.การควบคุมอันตราย (Control)
เป็นการหามาตรการในการควบคุมและป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในสภาพปกติ โดยคำนึงถึงปัจจัยประกอบในทุกๆ ด้าน

การป้องกันและควบคุมโรคอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพ

1.การควบคุมที่แหล่งกำเนิด (Source) หมายถึง การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การใช้สารเคมีที่ไม่เป็นพิษ การปิดคลุม แยกกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรที่มีอันตรายมากๆ ออกไปให้ห่างจากตัวพนักงาน

2.การควบคุมที่ทางผ่าน หมายถึง การสร้างระบบปิดกั้นระหว่างแหล่งกำเนิดกับตัวบุคคลหรือตัวพนักงานไม่ให้มาเจอกัน

3.ควบคุมที่ตัวบุคคล หมายถึง การสร้างจิตสำนึกและการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ซึ่งมีหลักการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลดังต่อไปนี้


-เลือกใช้อย่างเหมาะสมกับประเภทและระดับของอันตราย
-ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและดูแลรักษาอยู่เสมอ
-คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดจากการสวมใส่
-ถ้ามีแนวทางในการควบคุมที่แหล่งกำเนิด ให้แจ้งผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาที่เราเสนอไปอยู่เสมอ

การใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องเตือนภัย

1.สัญลักษณ์ต่างๆ การส่องสว่าง ถ้าบริเวณใดมีการส่องแสงให้สว่างมากๆ แสดงว่าบริเวณนั้นมีอันตรายมากกว่าบริเวณที่มีแสงสว่างน้อย เช่น ตามสี่แยกต่างๆ

2.การทำให้แตกต่างจากส่วนอื่น การระบายสีของชิ้นส่วนที่อันตรายด้วยสีอ่อนหรือสีเข้มให้แตกต่างจากส่วนอื่น เช่น สีเหลือง ใช้เตือนอันตราย หรือสีเขียวแสดงว่าปลอดภัย และให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

3.อ่านคำแนะนำต่างๆ ดูคู่มือคำเตือนและคำแนะนำต่างๆ ก่อนใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ทุกครั้ง ให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์เหล่านั้นได้

4.การปิดป้ายคำเตือน ควรปิดป้ายหรือพ่นคำเตือนบนเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่เหมาะสม

5.เครื่องหมายหรือสัญญลักษณ์เพื่อความปลอดภัย ควรมีป้ายเตือนหรือแผ่นโปสเตอร์ที่เกี่ยวกับการเตือนอันตราย เช่น ให้ใส่ที่อุดหูในบริเวณนี้ หรือใส่แว่นตานิรภัยในบริเวณนี้ เป็นต้น

6.ไฟสัญญาณ ควรใช้ไฟกระพริบ หรือไฟสีต่างๆ เพื่อเตือนภัยอันตราย หรือแสดงว่ากำลังเกิดเหตุ ฉุกเฉิน

7.สัญญาณธง ควรใช้ธงโบกหรือใช้ผ้าผูกเพื่อเตือนอันตราย เช่น ใช้ผ้าแดงผูกที่ท้ายรถหรือท้ายสิ่งของเวลาขับรถที่ต้องบรรทุกสิ่งของที่วางเลยออกมานอกตัวรถ

8.สัญญาณมือ ควรใช้สัญญาณมือ เพื่อแจ้งหรือบอกเตือนภัยในกรณีที่ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แจ้งการเตือนภัยเอาไว้ โดยต้องส่งสัญญาณจากเราไปยังอีกผู้หนึ่ง ให้เขารับรู้ว่าเราต้องการจะสื่อสารอะไรหรือบอกอะไรกับเขา

9.สัญญาณปลุก ใช้เสียงไซเรน ที่แตกต่างไปจากเดิม หมายถึง เสียงไซเรนที่แตกต่างไปจากเสียงกริ่งที่ใช้บอกเวลาเริ่มงานหรือเลิกงาน หรือใช้เสียงนกหวีดหรือเครื่องมือที่มีเสียงคล้ายๆ กัน

10.ใช้เสียงตะโกนด้วยตัวเอง เป็นการตะโกนส่งเสียงเพื่อบอกเตือนภัยให้ผู้อื่นรู้ กรณีนี้ต้องใช้หากจำเป็นหรือสามารถใช้ได้ทุกกรณีที่มีเหตุอันตรายเกิดขึ้น

11.ใช้กลิ่น เช่น กลิ่นก๊าซหุงต้ม เพื่อแสดงให้รู้ว่ากำลังมีอันตรายอยู่ เนื่องจากมีก๊าซรั่ว ก๊าซซึม และอันตรายจากสาเหตุอื่น เป็นต้น

12.ใช้ความรู้สึก จากการสั่นสะเทือน ใช้วิธีการนี้เพื่อบอกเหตุในขณะเครื่องเดินหรือเครื่องเดินไม่สะดวก เพื่อบอกให้รู้ว่าเครื่องกำลังมีปัญหา

หลักการจัดการของชีวอนามัยที่ดี

1.นำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานไปใช้ และนึกถึงอยู่เสมอขณะปฏิบัติงาน เช่น การทำงานอย่างปลอดภัยกับสารเคมีอันตราย การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง

2.เตือนเพื่อนพนักงานที่ปฏิบัติงานด้วยกัน ทุกๆ ครั้งที่พบเห็นเพื่อนร่วมงานกำลังประมาท และพยายามแก้ไขสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยทันทีที่พบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้นอีก

3.ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ

4.ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับขององค์กรในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด

5.มี "สติ" และ "สมาธิ" ในการทำงานอยู่เสมอ


เหตุผลที่ต้องมีการจัดการเรื่องอาชีวอนามัยก็คือ เนื่องจากเรื่องอาชีวอนามัยนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้อย่างเป็นระบบยั่งยืนและสามารถพัฒนาได้ต่อไป องค์กรสามารถเลือกระบบการจัดการในรูปแบบต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อบริหารจัดการได้ เช่น ระบบการประเมินความเสี่ยง มอก.18001 ระบบตรวจสอบความปลอดภัย ระบบการตรวจสุขภาพพนักงาน ระบบการตรวจติดตามโรคจากโรงงาน ระบบการฝึกอบรม การทำ 5 ส. เป็นต้น

ซึ่งระบบต่างๆ ที่กล่าวมานี้ในแต่ละองค์กรจะต้องเลือกนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานและกิจกรรมขององค์กรนั้นๆ ตลอดจนต้องให้เหมาะสมกับรูปแบบของการจัดการที่ทำอยู่เดิม แต่สิ่งที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในการบริหารการจัดการในเรื่องของอาชีวอนามัยก็คือ การปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งผู้ประกอบการและพนักงานทุกคนที่จะต้องรับทราบและปฏิบัติตามรายละเอียดที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป