อันตรายในงานขัดผิวโลหะ
งานขัดผิวโลหะ เป็นส่วนหนึ่งของงานในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโลหะเกือบทุกชนิด กรรมวิธีการขัดผิวโลหะมีหลายประเภท เช่น ขัดด้วยหินเจียร สายพานขัด ใช้วัสดุขัดในถังหมุน หรือพ่นทราย เป็นต้น การเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับขนาดและความเหมาะสมของชิ้นงาน
อันตรายที่อาจเกิดขึ้น แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1. อุบัติเหตุ เกิดขึ้นได้เนื่องจาก
- เศษหินเจียร หรือวัสดุที่เกิดขึ้นจากงานขัด เช่น เศษโลหะต่างๆ หรือผงทรายที่ใช้ในการขัดกระเด็นเข้าตา ซึ่งทำให้ตาบาดเจ็บหรือบอดได้
- สายพานขัดขาด เกิดขึ้นได้เมื่อสายพานเก่า ชำรุด ซึ่งมีแรงเหวี่ยงมากพอที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บได้
2.โรคจากการทำงาน ได้แก่
- โรคปอด เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นทราย หรือฝุ่นโลหะที่เกิดขึ้นจากงานขัดเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้มีการสะสมของสารต่างๆ ในปอดโดยเฉพาะบุคคลที่หายใจช้าและลึกจะทำให้ฝุ่นตกค้างในปอดมากขึ้น การที่มีสารแปลกปลอมเข้าไปในปอด จะทำให้เนื้อเยื่อปอดเกิดการระคายเคืองอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดขึ้นภายในปอด สมรรถภาพในการทำงานของปอดจะลดลง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อยง่าย หอบ น้ำหนักตัวลด เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอ หายใจถี่ เป็นต้น โรคปอดดังกล่าวมีชื่อเรียกรวมๆ กันว่า นิวโมโคนิโอซิส แต่ถ้าอาการโรคเกิดจากฝุ่นทราย เรียกว่า ซิลิโคซิส ถ้าอาการโรคเกิดจากฝุ่นเหล็ก เรียกว่า ซิเดอโรซิส
เป็นต้น
- โรคผิวหนัง เกิดขึ้นได้จากการที่ผิวหนังต้องสัมผัสกับฝุ่นสารต่างๆ และมีน้ำมันขณะปฏิบัติงานปกติผิวหนังจะมี ไขมัน และเหงื่อ เป็นด่านป้องกันมิให้สารแปลกปลอมแพร่กระจายหรือแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นในได้โดยง่าย ฝุ่นสารหรือน้ำมันจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง ผิวหนังแห้งแตก เกิดการอักเสบเป็นตุ่มแดง และถ้าหากเกิดบาดแผลที่ผิวหนังจะทำให้มีอาการของโรคผิวหนังติดเชื้อลุกลามได้มากขึ้น
- หูตึง งานขัดส่วนใหญ่ก่อให้เกิดเสียงดังเกิน 85 db(A) ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานความดังของเสียงที่วสามารถทำอันตรายต่อหูได้ ถ้าคนงานได้รับติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะเสียงที่มีความถี่สูง (เสียงแหลม) จะทำอันตรายแก่หูได้มากขึ้น การที่คนงานต้องรับฟังเสียงที่ดังเกินขนาดเป็นประจำในระยะเวลานานๆ จะทำให้สมรรถภาพการได้ยินลดลง และเกิดภาวะหูตึงได้
-โรคนิ้วตายจกการสั่นสะเทือน งานขัดบางประเภททำให้เกิดความสั่นสะเทือนอย่างมากต่อมือและแขนเป็นผลให้เส้นโลหิตฝอยที่ปลายนิ้วมือ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้นิ้วมือซีดขาว ชา หมดความรู้สึก
ท่านจะป้องกันได้อย่างไร
1. ตรวจสภาพเครื่องมือและอุปกรณ์การขัดให้เรียบร้อย ก่อนการใช้งาน เช่น ถังหมุนไม่มีรอยรั่ว หินเจียรและสายพานขัดมีขนาดถูกต้อง และไม่ชำรุด สายพานของเครื่องจักรต้องมีฝาครอบ
2. กำจัดปริมาณฝุ่นที่เกิดขึ้นในโรงงาน โดยจัดระบบระบายอากาศในโรงงานให้ถูกทิศทาง และเครื่องดูดอากาศเฉพาะที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน เช่น ใส่แว่นตานิรภัยกันเศษวัสดุกระเด็นเข้าตา สวมถุงมือกันสารเคมี และสวมหน้ากากกันสารเคมี ถ้าสถานที่ทำงานมีปริมาณฝุ่นสารเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย กรณีทำงานกับเครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือน ให้ใส่ถุงมือที่สามารถลดความสั่นสะเทือนได้ และให้ใส่ปลั๊กอุดหูลดเสียงหรือที่ครอบหูลดเสียงในขณะที่ทำงานในที่มีเสียงดัง
4. หมั่นทำความสะอาดที่บริเวณงานและจัดระเบียบภายในโรงงานให้เรียบร้อย
5. หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เช่น เอกซเรย์ปอด ทดสอบสมรรถภาพปอด และทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน เป็นต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น